22 กรกฎาคม 2552
หน้าหลัก
1. การจำแนกผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน
2. การคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ
3. การดูแลเบื้องต้นและการปฐมพยาบาลผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุจราจร และอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา
4. การดูแลและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วย
- กระดูกหัก
- การดามกระดูก
- การใช้ผ้าพันแผล
- การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
5. บทความเกี่ยวกับนโยบายสาธารณสุข เรื่องความปลอดภัย และการป้องกันอุบัติเหตุจราจร
การจำแนกผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน
ฉุกเฉิน หมายถึง การเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน โดยปัจจุบันทันด่วนและต้องการการช่วยเหลือและแก้ไขอย่างรีบด่วน มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือทำให้เกิดความพิการและความทุกข์ทรมานอย่างมากได้
การจำแนกประเภทผู้บาดเจ็บ
การจำแนกประเภทผู้บาดเจ็บ(triage) มาจากภาษาฝรั่งเศส คำว่า trier ตรงกับภาษาอังกฤษว่า sort แปลว่า การคัดแยกจัดเป็นหมวดหมู่
การจำแนกประเภทผู้บาดเจ็บ
1. แบ่งตามอาการบาดเจ็บ
2. แบ่งตามความเร่งด่วนของการรักษา
3. แบ่งตามกลุ่มโรค
1. แบ่งตามอาการบาดเจ็บแบ่งออกเป็น 4 ประเภทดังนี้
1. สีแดง อาการหนัก ต้องช่วยเหลือทันที
2. สีเหลือง อาการปานกลาง รอได้ในระยะเวลาหนึ่ง
3. สีเขียว อาการเบา เดินได้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
4. สีดำ เสียชีวิต หรือไม่มีทางรอด
เทคนิด start triage
การแยกคนที่ได้รับบาดเจ็บซึ่งเดินได้ รู้สึกตัวดี ให้เป็นสีเขียว ส่วนที่เหลือประเมินเป็น สีแดง สีเหลืองและสีดำ
2. แบ่งตามความเร่งด่วนของการรักษา
1. ผู้ป่วยฉุกเฉินมาก (Emergent)
2. ผู้ป่วยฉุกเฉิน (Urgent)
3. ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน (Non-emergent)
ผู้ป่วยฉุกเฉินมาก (Emergent)
หมายถึง เป็นภาวะที่คุกคามต่อชีวิตต้องให้การช่วยเหลืออย่างรีบด่วน ผู้ป่วยที่ต้องการการตรวจรักษาทันทีมิฉะนั้นผู้ป่วยจะตาย หรือพิการอย่างถาวรในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งภาวะฉุกเฉินมากที่ต้องวินิจฉัยและให้การตรวจรักษาทันที
ผู้ป่วยฉุกเฉินมาก (Emergent)
1.ภาวะ “หัวใจหยุดเต้น” (Cardiac arrest)
2.หายใจไม่ออก หยุดหายใจ
3.ภาวะ “ช็อก”
4.ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว
5.เลือดออกมากอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา
ผู้ป่วยฉุกเฉิน (Urgent)
เป็นภาวะที่ต้องการการช่วยเหลือโดยเร็ว รอได้บ้างแต่ไม่นาน เป็นภาวะที่ผู้ป่วยต้องการการช่วยเหลือทางการรักษาพยาบาลจัดเป็นอันดับรองจากกลุ่มแรก ผู้ป่วยประเภทนี้ถ้าปล่อยทั้งไว้ไม่ให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้สูญเสียชีวิตหรือพิการได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีอาการหรืออาการแสดงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง
ผู้ป่วยฉุกเฉิน (Urgent)
1.หายใจช้ากว่า 10 หรือเร็วกว่า 30 ครั้ง/นาที หายใจลำบากหรือหายใจเหนื่อยหอบ
2.ชีพจรช้ากว่า 40 หรือเร็วกว่า 150 ครั้ง/นาที โดยเฉพาะถ้าร่วมกับลักษณะทางคลินิกข้ออื่น
3.ไม่รู้สึกตัว ชัก อัมพาต หรือตาบอด หูหนวกทันที
4.ตกเลือด ซีดมากหรือเขียว
5.เจ็บปวดมากหรือทุรนทุราย
6.มือเท้าเย็นซีด และเหงื่อแตก ร่วมกับลักษณะทางคลินิกข้ออื่น
7.ความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 90 มม.ปรอทหรือตัวล่างสูงกว่า 130 มม.ปรอท โดยเฉพาะร่วมกับลักษณะทางคลินิกข้ออื่น
8.อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 35° c หรือสูงกว่า 40° c โดยเฉพาะร่วมกับลักษณะทางคลินิกข้ออื่น
9.ถูกพิษหรือ Drug overuse
10.ได้รับอุบัติเหตุ โดยเฉพาะบาดแผลที่ใหญ่มากและมีหลายแห่ง เช่น major multiple fractures,Burns, Back injury with or without spinal cord damage
11.ภาวะจิตเวชฉุกเฉิน
12.เป็นภาวะที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องพึ่งการให้บริการหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน แต่ต้องได้รับการตรวจรักษาโดยการส่งต่อไปตรวจ ณ แผนกผู้ป่วยนอก หรือจัดลำดับความสำคัญในการรักษาเป็นลำดับสุดท้าย
ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน (Non-emergent)
1.Minor fracture or other minor injury
2.Dead On Arrival (DOA)
3.Chronic backache
4.Moderate headache
5.Common cold
3.แบ่งตามกลุ่มโรค
1. ผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางอายุรกรรม ได้แก่โรคหัวใจและหลอดเลือดผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรม
2. ผู้ป่วยฉุกเฉินทางต่อมไร้ท่อเช่นผู้ป่วยที่มีภาวะคีโตนอะซิโดสิส
3. ผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรม เช่นมีภาวะปอดแตก
4. ผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางสูตินารีเวช ได้แก่ ปัญหาที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ หรือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องช่วยเหลือด่วนเกี่ยวกับระบบสืบพันธ์สตรี เช่นการล่วงละเมิดทางเพศ
5. ผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางจิตเวช เช่นผู้ป่วยsuicide
หลักการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน
1.ประเมินสภาพ (ABCD)
- ประเมินดูความรู้สึกตัว
- ประเมินทางเดินหายใจ
- การหายใจ
- การไหลเวียน
- การทำหน้าที่ของอวัยวะ
- รวมทั้งปัญหาอื่นๆที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเช่นปวดท้อง
2.ให้การช่วยเหลือทันที เช่น ให้ออกซิเจน ให้กลูโคส ช่วยฟื้นคืนชีพ
3.ซักประวัติจากผู้ป่วยหรือญาติ (SAMPLE)
4.การยกและเคลื่อนย้าย นำส่งโรงพยาบาลด้วยวิธีที่เหมาะสม
การคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ
การคัดกรอง เป็นการประเมินสภาพผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว เพื่อจำแนกประเภทผู้ป่วยเป็นชนิดฉุกเฉิน (emergent) เร่งด่วน (urgent) หรือไม่เร่งด่วน (non urgent) เพื่อให้การช่วยเหลือที่เหมาะสมกับระดับความรุนแรง ภายในเวลา 4 นาที
พยาบาลวิชาชีพจะเป็นผู้คัดกรอง โดยใช้ A B C D E เป็นหลักในการประเมินตัดสิน ตามลำดับดังนี้
A : Airway เป็นการประเมินว่าทางเดินหายใจโล่ง หรือมีการอุดกั้น
B : Breathing เป็นการประเมินลักษณะการหายใจ
C : Circulation เป็นการประเมินเกี่ยวกับการเลือดและไหลเวียนเลือด
D : Disability เป็นการประเมินอาการและอาการแสดงที่เกี่ยวกับการรับรู้
E : Exposure เป็นการประเมินอาการและอาการแสดงที่เกี่ยวกับบาดแผล อุณหภูมิกาย
**หมายเหตุ**
- ถ้าพบการประเมินอยู่ใน emergent เพียงรายการใดรายการหนึ่ง ใน A B C D E ให้ระบุการคัดกรองนั้นว่า เป็นชนิดฉุกเฉิน (emergent)
- ถ้าพบการประเมินอยู่ใน emergent ร่วมกับ urgent เพียงรายการใดรายการหนึ่ง ให้ระบุการคัดกรองนั้นว่า เป็นชนิดฉุกเฉิน (emergent)
- ถ้าพบการประเมินอยู่ใน urgent ร่วมกับ urgent ต่างประเภท (A B C D E) เพียงรายการใดรายการหนึ่ง ให้ ระบุการคัดกรองนั้นว่า เป็นชนิดฉุกเฉิน (emergent)
- ถ้าพบการประเมินอยู่ใน urgent ร่วมกับ non urgent เพียงรายการใดรายการหนึ่ง ให้ระบุการคัดกรองนั้นว่า เป็นชนิดฉุกเฉิน (urgent)
การดูแลเบื้องต้นและการปฐมพยาบาลผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุจราจร และอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา
การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาสามารถเกิดขึ้นได้หลายแบบ บางชนิดนักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนสามารถรักษาพยาบาลกันเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางแพทย์แต่อย่างใด การปฐมพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะแม้จะเป็นบาดเจ็บที่ต้องรับการรักษาจากแพทย์ แต่ถ้าได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีก่อนที่จะมีแพทย์มาดู หรือไปถึงมือแพทย์ก็จะสามารถแบ่งเบาภาระของแพทย์ทำให้การักษาง่ายขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าได้รับการปฐมพยาบาลที่ผิดวิธี อาจทำให้บาดเจ็บน้อยกลายเป็นบาดเจ็บมากและรักษาได้ยากขึ้น ดังมีตัวอย่างเสมอในบ้านเรา ซึ่งไม่สามารถจะมีแพทย์ประจำสนามได้ทุกครั้งที่มีการฝึกซ้อมหรือแข่งขัน เพื่อให้นักกีฬาและผู้ฝึกสอนสามารถให้การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องได้เองเมื่อประสบอุบัติเหตุได้รับ จะขอกล่าวถึงบาดเจ็บเฉพาะที่พบบ่อย ๆ และการปฐมพยาบาลเท่าที่สามารถทำได้เองเป็นข้อ ๆ ไป
ตะคริว
เป็นบาดเจ็บไม่รุนแรงซึ่งนับได้ว่าพบบ่อยที่สุด
- ตัวอย่างกล้ามเนื้อน่องซึ่งทำหน้าที่เหยียดปลายเท้าขณะเป็นตะคริวจะหดเกร็งและทำให้ปลายเท้าเหยียด การใช้กำลังดันปลายเท้าเข้าหาเข่า โดยค่อย ๆ เพิ่มกำลังดัน
- จะช่วยเหยียดกล้ามเนื้อน่องได้ การใช้ของร้อนประคบหรือถูนวดเบา ๆ จะช่วยให้เลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อคลายและมีกำลังยืดหดได้อีก ถ้าเป็นพร้อมกันหลายแห่ง สาเหตุมักเกิดจากการขาดน้ำ, อาหาร, เกลือแร่ในกล้ามเนื้อ การให้ความอบอุ่นแก่ผู้ป่วย ให้น้ำผสมเกลือแกงดื่มเป็นระยะ ๆ
ฟกช้ำ เคล็ด, แพลง
การปฐมพยาบาล ใช้ของเย็นประคบบริเวณที่ถูกกระแทกอย่าเพิ่งถูนวด ถ้าเป็นบริเวณที่ติดกับกระดูก เช่น หน้าแข้ง, หนังศีรษะ อาจใช้ผ้าพันให้แน่น หลัง 24 ชั่วโมงแล้วจึงใช้ของร้อนและถูนวดเบา ๆ ได้
กล้ามเนื้อฉีก
การปฐมพยาบาล
- ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่พักกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บให้มากที่สุด ถ้ามีปลาสเตอร์ก็ใช้ติดจากส่วนบนของกล้ามเนื้อมายังส่วนล่างหลาย ๆ ชิ้น แล้วพาดขวางอีกหลาย ๆ ชิ้น
- แล้วใช้ผ้ายึดรัดอีกชั้นหนึ่ง การใช้ของเย็นประคบใน 24 ชั่วโมงแรก ช่วยไม่ให้มีเลือดออกมากในกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นต้องพักการใช้กล้ามเนื้อนั้นจนไม่มีความเจ็บปวดอีก จึงเริ่มให้ออกกำลังเบา ๆ ในระดับที่ไม่มีความเจ็บปวด และค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
กระดูกหัก
การปฐมพยาบาล หมายถึง... การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ผู้ที่ได้รับอุบัติภัยหรือเจ็บป่วยกระทันหันโดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่พอจะหาได้ในบริเวณนั้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยและช่วยให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายน้อยลง ก่อนที่จะนำส่งโรง พยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาพยาบาลต่อไป
ผู้ป่วยฉุกเฉิน หมายถึง ผู้ได้รับบาดเจ็บหรือผู้ที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
การประเมิน (Assessment) หมายถึงการรวบรวมข้อมูลของสถานที่เกิดเหตุและผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินเพื่อการวางแผนให้การช่วยเหลือต่อไป
ขั้นตอนประเมินสภาพผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน
1.แนะนำตัวบอกชื่อและอธิบายให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือญาติทราบว่า เราเป็นใคร จะให้การช่วยเหลืออะไร
2.ตรวจดูความรู้สึกตัว โดยการเรียกหรือตีที่ไหล่เบา ๆ เพื่อดูว่าผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินรู้สึกตัวหรือไม่
3.ตรวจดูทางเดินหายใจ ดูว่ามีเศษอาหารฟันปลอมอยู่ในปากหรือไม่
4.ตรวจการหายใจ โดยดูการขยับขึ้น – ลง ของทรวงอกและนับอันตราการหายใจ
5.ตรวจดูชีพจร เพื่อดูว่าหัวใจเต้นหรือไม่ ตรวจบาดแผล มีเลือดออกหรือไม่ ถ้ามีเลือดออกให้ทำการห้ามเลือดโดยเร็ว
กระดูกหัก
กระดูกหัก หมายถึง ภาวะที่ส่วนประกอบของกระดูกแตกแยกออกจากกัน อาจเป็นการแตกแยกโดยสิ้นเชิง หรืออาจมีบางส่วนติดกันอยู่บ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแรงที่มากระแทกต่อกระดูก ทำให้แนวการหักของกระดูกแตกต่างกัน
ชนิดของกระดูกหัก
โดยทั่วไปแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ กระดูกหักชนิดปิด (closed fracture) และกระดูกหักชนิดเปิด (opened fracture) ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จากการสังเกต
1. กระดูกหักชนิดปิด คือกระดูกหักแล้วไม่ทะลุผิวหนังและไม่มีบาดแผลบนผิวหนังตรงบริเวณที่หัก
2. กระดูกหักชนิดเปิด คือกระดูกหักแล้วทิ่มแทงทะลุผิวหนัง ทำให้มีแผลตรงบริเวณที่กระดูกหัก โดยอาจไม่มีกระดูกโผล่ออกมานอกผิวหนังก็ได้ แต่มีแผลเห็นได้ชัดเจน
กระดูกส่วนต่างๆ ที่พบการแตกหักได้
1. กระดูกเชิงกรานหัก (Pelvic fracture)
2. กระดูกกระโหลกศีรษะแตก (Skull fracture)
3. กระดูกขากรรไกรล่างหัก (Lower Jaw fracture)
4. กระดูกไหปลาร้าหัก (Clavicle fracture)
5. กระดูกซี่โครงหัก (Ribs fracture)
6. กระดูกข้อมือหัก (Colle' s fracture)
7. กระดูกต้นแขนหัก
8. กระดูกสันหลังหัก (Spinal fracture)
หลักทั่วไปในการปฐมพยาบาลผู้ที่กระดูกหัก
1. การซักประวัติ จะต้องซักประวัติเกี่ยวกับการได้รับอุบัติเหตุ เพื่อให้ทราบว่าเกิดได้อย่างไร ในท่าใด ระยะเวลาที่เกิด เพื่อประเมินความรุนแรงของแรงที่มากระทำ และตำแหน่งของกระดูกที่ได้รับบาดเจ็บ
2. ตรวจร่างกาย โดยตรวจทั้งตัว และสนใจต่อส่วนที่ได้รับอันตรายมากก่อน โดยถอดเสื้อผ้าออก การถอดเสื้อผ้าผู้บาดเจ็บ ควรใช้วิธีตัดตามตะเข็บ อย่าพยายามให้ผู้บาดเจ็บถอดเอง เพราะจะทำให้เจ็บปวดเพิ่มขึ้นแล้วสังเกตอาการและอาการแสดงว่ามีการบวม รอยฟกช้ำ หรือ จ้ำเลือด บาดแผล ความพิการผิดรูป และคลำอย่างนุ่มนวล ถ้ามีการบวมและชามากให้จับชีพจรเปรียบเทียบกับแขนหรือขาทั้งสองข้าง ตรวจระดับความรู้สึก การเปลี่ยนแปลงสีผิว การตรวจบริเวณที่หัก ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ปลายกระดูกที่หักเคลื่อนมาเกยกัน หรือทะลุออกมานอกผิวหนัง ขณะตรวจร่างกาย ต้องดูแลทางเดินหายใจให้โล่ง ประเมินการหายใจและการไหลเวียนของเลือด สังเกตการตกเลือด ถ้ามีต้องห้ามเลือด หลีกเลี่ยงวิธีการห้ามเลือดแบบขันชะเนาะ เพราะถ้ารัดแน่นเกินไป อาจจะทำให้เลือดแดงไปเลี้ยงส่วนปลายไม่พอ ถ้ามีบาดแผลต้องตกแต่งแผลและพันแผล ในรายที่มีกระดูกหักแบบเปิดให้ใช้ผ้าสะอาดคลุมปิดไว้ แล้วพันทับ ห้ามดึงกระดูกให้เข้าที่
3. ระมัดระวังในการจับต้องอย่างรุนแรง
4. เข้าเฝือกชั่วคราวโดยใช้วัสดุที่แข็ง เช่น แผ่นไม้ กิ่งไม้ ม้วนหนังสือพิมพ์ วางรองยึดกระดูกส่วนที่หักให้อยู่กับที่
5. พันผ้ายืดไม่ให้เคลื่อนไหว ระวังอย่าพันผ้าให้แน่นจนเกินควร ซึ่งจะทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายไม่ได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก
6. ทำการห้ามเลือดถ้ามีเลือดออกมาก
7. ในรายที่กระดูกโผล่ออกนอกเนื้อ อย่าพยายามดึงกระดูกให้กลับเข้าที่ เพราะจะทำให้เชื้อโรค และสิ่งสกปรกจากภายนอกเข้าในแผนส่วนลึกได้ ให้หาผ้าสะอาดคลุม หรือปิดบาดแผลไว้
8. ถ้าเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ เช่น กระดูกโคนขา อาจใช้ขาข้างที่ดีเป็นตัวยึดก็ได้
9. ยกส่วนที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงขึ้นเล็กน้อย
10. การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ เพื่อเคลื่อนย้ายออกจากสถานที่มีอันตรายไปสู่ที่ปลอดภัยหรือโรงพยาบาล การเคลื่อนย้ายอย่างถูกวิธี จะช่วยลดความพิการและอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้
11. รีบนำส่งโรงพยาบาล
หลักการเข้าเฝือกชั่วคราว
1.วัสดุที่ใช้ดามต้องยาวกว่าอวัยวะส่วนที่หัก โดยเฉพาะจะต้องยาวพอที่จะบังคับข้อต่อที่อยู่เหนือและใต้ บริเวณที่สงสัยว่ากระดูกหัก เช่น ขาท่อนล่างหัก ข้อเข่าและข้อเท้าจะต้องถูกบังคับไว้ด้วยเฝือก เป็นต้น
2. ไม่วางเฝือกลงบนบริเวณที่กระดูกหักโดยตรง ควรมีสิ่งอื่นรอง เช่น ผ้า หรือ สำลีวางไว้ตลอดแนวเฝือก เพื่อไม่ให้เฝือกกดลงบนบริเวณผิวหนังโดยตรง ซึ่งทำให้เจ็บปวดและเกิดเป็นแผลจากเฝือกกดได้
3.มัดเฝือกกับอวัยวะที่หักให้แน่นพอควร ถ้ารัดแน่นจนเกินไปจะกดผิวหนังทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวกเป็นอันตรายได้ โดยระวังอย่าให้ปมเชือกกดแผล จะเพิ่มความเจ็บปวดและเนื้อเยื่อได้รับอันตราย และคอยตรวจบริเวณที่หักเป็นระยะๆ เพราะอาจจะมีการบวม ซึ่งจะต้องคลายเชือกที่ผูกให้แน่นน้อยลง
4.บริเวณที่เข้าเฝือกจะต้องจัดให้อยู่ในท่าที่สุขสบายที่สุด อย่าจัดกระดูกให้เข้ารูปเดิม ไม่ว่ากระดูกที่หักจะโค้ง โก่ง หรือ คด ก็ควรเข้าเฝือกในท่าที่เป็นอยู่
การหายของกระดูก
เมื่อกระดูกหัก โดยมากมักทำให้เยื่อหุ้มกระดูกและเนื้อเยื่ออื่นๆ ฉีกขาดไปด้วย จึงทำให้บริเวณที่หักมีการอักเสบขึ้น เลือดจะมาสู่ส่วนนั้นมากขึ้น ต่อมาจะเกิดเป็นกระดูกใหม่ขึ้น เรียกว่า callus ซึ่งจะเชื่อมปลายกระดูกทั้งสองข้างให้ติดกัน แล้วเซลล์สร้างกระดูกจากเยื่อหุ้มกระดูก และแคลเซียมก็จะมาสะสมกันทำให้ callus แข็งขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นกระดูกปกติ ซึ่งการเชื่อมของกระดูกจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นกับอายุของผู้บาดเจ็บ ลักษณะการหักของกระดูก ชนิดและตำแหน่งของกระดูกที่หัก และกระดูกที่จำกัดการเคลื่อนไหวที่ดี
การดามกระดูก
เมื่อเราทราบว่าผู้บาดเจ็บมีภาวะกระดูกหัก จำเป็นจะต้องดามกระดูกก่อนให้การเคลื่อนย้าย โดยมีหลักในการดามดังนี้
กระดูกต้นแขนหัก กระดูกต้นขาหัก กระดูกปลายขาหัก
(หัวไหล่-ข้อศอก ) (ข้อสะโพก-ข้อเข่า) (ข้อเข่า-ข้อเท้า)
หากคุณสามารถทำได้ตามหลักการที่บอกไว้ รับประกันได้ว่า จะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บาดเจ็บได้ รวมทั้งยังสามารถลดหรือบรรเทาอาการเจ็บปวดได้มากทีเดียว
การใช้ผ้าพันแผล
เมื่อเกิดการบาดเจ็บจากกระดูกหัก หรือมีบาดแผลตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย การพันผ้าก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ใช้ในการปฐมพยาบาลเพื่อร่วมกับการดามอวัยวะที่หัก หรือ พันแผลก่อนนำส่งโรงพยาบาล
ชนิดของผ้าพันแผลที่ใช้ในการปฐมพยาบาล แบ่งกว้าง ๆ ได้ 2 ชนิด
1. ผ้าพันแผลชนิดเป็นม้วน แบ่งเป็นชนิดธรรมดา (Roll gauze bandage) และ ชนิดผ้ายืด (Elastic bandage)
2. ผ้าสามเหลี่ยม (Triangular bandage) เป็นผ้าสามเหลี่ยมมีฐานกว้าง และด้านประกอบสามเหลี่ยมยาว 36-40 นิ้ว
ประโยชน์ของผ้าพันแผล ใช้ห้ามเลือด, ป้องกันการติดเชื้อ,พันเฝือกในรายกระดูกหัก,ใช้ยึดผ้าปิดแผลให้อยู่กับที่
หลักทั่วไปในการพันผ้า
1. ก่อนพันผ้าทุกครั้ง ผ้าที่พันต้องม้วนให้เรียบร้อย ไม่หลุดลุ่ย
2. จับผ้าด้วยมือข้างที่ถนัด โดยหงายม้วนผ้าขึ้น
3. วางผ้าลงบริเวณที่ต้องการพัน พันรอบสัก 2-3 รอบ เมื่อเริ่มต้น และสิ้นสุดการพัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าคลายตัวหลุดออก
4. พันจากส่วนปลายไปหาส่วนโคน หรือ พันจากข้างล่างขึ้นข้างบน หรือ พันจากส่วนเล็กไปหาส่วนใหญ่
5. เมื่อสิ้นสุดการพัน ควรผูกหรือใช้เข็มกลัดหรือติดพลาสเตอร์ให้เรียบร้อย แต่ไม่ให้ทับบริเวณแผล
6. การใช้ผ้ายืดต้องระวังการรัดแน่นจนเกินไป จนเลือดเดินไม่สะดวกและกดทับเส้นประสาท สังเกตได้จากการบวม สีผิวซีด ขาว และเย็น พร้อมทั้งผู้บาดเจ็บจะบอกถึงอาการปวดและชา
7. ถ้ามีอาการปวดและชา บริเวณที่พันผ้า ให้รีบคลายผ้าที่พันไว้ออกแล้วจึงพันใหม่
ลักษณะต่างๆ ของการพันผ้าพันแผลชนิดม้วนและวิธีทำ
1. การพันรอบหรือพันเป็นวงกลม (Circular turns) เป็นการพันรอบที่ใช้กับส่วนที่เป็นวงกลม และมักใช้เป็นจุดเริ่มต้นและจุดจบของการพันผ้าพันแผลชนิดม้วนลักษณะอื่น ๆ อวัยวะที่เหมาะสำหรับการพันรอบ เช่น รอบศีรษะ รอบนิ้วมือ รอบข้อมือ เป็นต้น
2. การพันเป็นเกลียว (Spiral turns) เป็นการพันกับอวัยวะที่ยาว เช่น ต้นแขน ต้นขา หน้าแข้ง ลำตัว เป็นต้น
3. การพันรูปเลขแปด (Figure of eight turns) เป็นการพันอวัยวะที่เป็นส่วนของข้อ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า ข้อสะโพก ข้อศอก และหัวไหล่ เป็นต้น
การใช้ผ้าสามเหลี่ยม (Triangular bandages)
การใช้ผ้าสามเหลี่ยม เมื่อมีบาดแผลต้องใช้ผ้าพันแผล ซึ่งขณะนั้นมีผ้าสามเหลี่ยม สามารถใช้ผ้าสามเหลี่ยมแทนผ้าพันแผลได้ โดยพับเก็บมุมให้เรียบร้อย และก่อนพันแผลต้องพับผ้าสามเหลี่ยมให้มีขนาดเหมาะสมกับบาดแผลและอวัยวะที่ใช้พัน
1. การคล้องแขน (Arm sling) ในกรณีที่มีกระดูกต้นแขนหัก หรือกระดูกปลายแขนหัก เมื่อตกแต่งบาดแผลและเข้าเฝือกชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว จะคล้องด้วยผ้าสามเหลี่ยม
2. การพันศีรษะ ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่าใช้ผ้าพันแผลชนิดม้วน
3. การพันมือ ใช้กรณีที่มีบาดแผลที่มือ
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
การเคลื่อนย้ายที่ถูกวิธีมีความสำคัญมาก ถ้าผู้ช่วยเหลือมีประสบการณ์ มีความรู้ ความเข้าใจ มีหลักการและรู้จักวิธีการเคลื่อนย้ายที่ถูกวิธี จะช่วยให้ผู้บาดเจ็บมีชีวิตรอด ปลอดภัย ลดความพิการ หรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้
1. การเคลื่อนย้ายโดยผู้ช่วยเหลือคนเดียว
วิธีที่ 1 พยุงเดิน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่รู้สึกตัวดี แต่แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งเจ็บ
วิธีเคลื่อนย้าย ผู้ช่วยเหลือยืนเคียงข้างผู้ป่วย หันหน้าไปทางเดียวกัน แขนข้างหนึ่งของ ผู้ป่วยพาดคอ ผู้ช่วยเหลือจับมือผู้ป่วยไว้ ส่วนแขนอีกข้างหนึ่งของผู้ช่วยเหลือโอบเอวและพยุงเดิน
วิธีที่ 3 วิธีลาก เหมาะที่จะใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เกิดไฟไหม้ ถังแก็สระเบิด หรือตึกถล่ม จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
2. การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยผู้ช่วยเหลือสองคน
วิธีที่ 1 อุ้มและยก เหมาะสำหรับผู้ป่วยรายในรายที่ไม่รู้สึกตัว แต่ไม่ควรใช้ในรายที่มีการบาดเจ็บของลำตัว หรือกระดูกหัก
วิธีที่ 2 นั่งบนมือทั้งสี่ที่จับประสานกันเป็นแคร่ เหมาะสำหรับผู้ป่วยในรายที่ขาเจ็บแต่รู้สึกดีและสามารถใช้แขนทั้งสองข้างได้
วิธีเคลื่อนย้าย ผู้ช่วยเหลือทั้งสองคนใช้มือขวากำข้อมือซ้ายของตนเอง ขณะเดียวกันก็ใช้มือซ้ายกำมือขวาซึ่งกันและกัน ให้ผู้ป่วยใช้แขนทั้งสองยันตัวขึ้นนั่งบนมือทั้งสี่ที่จับประสานกันเป็นแคร่ แขนทั้งสองของผู้ป่วยโอบคอผู้ช่วยเหลือ จากนั้นวางผู้ป่วยบนเข่าเป็นจังหวะที่หนึ่ง และอุ้มยืนเป็นจังหวะที่สอง แล้วจึงเดินไปพร้อมๆ กัน
วิธีที่ 3 การพยุงเดิน วิธีนี้ใช้ในรายที่ไม่มีบาดแผลรุนแรง หรือกระดูกหักและผู้บาดเจ็บยังรู้สึกตัวดี
3. การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยผู้ช่วยเหลือสามคน
วิธีที่ 1 อุ้มสามคนเรียง เหมาะสำหรับผู้ป่วยในรายที่ไม่รู้สึกตัว ต้องการอุ้มขึ้นวางบนเตียงหรืออุ้มผ่านทางแคบๆ
วิธีเคลื่อนย้าย ผู้ช่วยเหลือทั้งสามคนคุกเข่าเรียงกันในท่าคุกเข่าข้างเดียว ทุกคนสอดมือเข้าใต้ตัวผู้ป่วย และอุ้มพยุงไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายดังนี้
คนที่ 1 สอดมือทั้งสองเข้าใต้ตัวผู้ป่วยตรงบริเวณคอและหลังส่วนบน
คนที่ 2 สอดมือทั้งสองเข้าใต้ตัวผู้ป่วยตรงบริเวณหลังส่วนล่างและก้น
คนที่ 3 สอดมือทั้งสองเข้าใต้ขา
ผู้ช่วยเหลือคนที่อ่อนแอที่สุดควรเป็นคนที่ 3 เพราะรับน้ำหนักน้อยที่สุด เมื่อจะยกผู้ป่วยผู้ช่วยเหลือทั้งสามคน จะต้องทำงานพร้อมๆ กัน โดยให้คนใดคนหนึ่งเป็นออกคำสั่ง ขั้นแรก ยกผู้ป่วยพร้อมกันและวางบนเข่า แต่ถ้าจะอุ้มเคลื่อนที่ผู้ช่วยเหลือทั้งสามคน จะต้องประคองตัวผู้ป่วยในท่านอนตะแคง และอุ้มยืน เมื่อจะเดินจะก้าวเดินไปทางด้านข้างพร้อมๆ กัน และถ้าจะวาง ผู้ป่วยให้ทำเหมือนเดิมทุกประการ คือ คุกเข่าลงก่อนและค่อย ๆ วางผู้ป่วยลง
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยวิธีอุ้มสามคนเรียง
วิธีที่ 2 การใช้คน 3 คน วิธีนี้ใช้ในรายที่ผู้บาดเจ็บนอนหงาย หรือ นอนคว่ำก็ได้ ให้คางของผู้บาดเจ็บยกสูงเพื่อเปิดทางเดินหายใจ
1. ผู้ปฐมพยาบาล 2 คนคุกเข่าข้างลำตัวผู้บาดเจ็บข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งผู้ปฐมพยาบาลอีก 1 คน คุกเข่าข้างลำตัวผู้บาดเจ็บ
2. ผู้ปฐมพยาบาลคนที่ 1 ประคองที่ศีรษะและไหล่ผู้บาดเจ็บ มืออีกข้างหนึ่งรองส่วนหลังผู้บาดเจ็บ
3. ผู้ปฐมพยาบาลคนที่ 2 อยู่ตรงข้ามคนที่ 1ใช้แขนข้างหนึ่งรองหลังผู้บาดเจ็บ เอามือไปจับมือคนที่ 1 อีกมือหนึ่งรองใต้สะโพกผู้บาดเจ็บ
4. ผู้ปฐมพยาบาลคนที่ 3 มือหนึ่งอยู่ใต้ต้นขาเหนือมือคนที่ 2 ที่รองใต้สะโพก แล้วเอามือไปจับกับมือคนที่ 2 ที่รองใต้สะโพกนั้น ส่วนมืออีกข้างหนึ่งรองที่ขาใต้เข่า
5. มือคนที่ 1 และคนที่ 2 ควรจับกันอยู่ระหว่างกึ่งกลางลำตัวส่วนบนของผู้บาดเจ็บ ผู้ปฐมพยาบาลจะต้องให้สัญญาณลุกขึ้นยืนพร้อม ๆ กัน
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยวิธีใช้คน 3 คน
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยใช้ผ้าห่ม
ใช้กรณีที่ไม่มีเปลหามแต่ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณหลัง
วิธีเคลื่อนย้าย พับผ้าห่มตามยาวทบกันเป็นชั้น ๆ 2-3 ทบ โดยวิธีการพับผ้าห่มพับเช่นเดียวกับการพับกระดาษทำพัด วางผ้าห่มขนาบชิดตัวผู้ป่วยทางด้านข้าง ผู้ช่วยเหลือคุกเข่าลงข้างตัวผู้ป่วยอีกข้างหนึ่ง จับผู้ป่วยตะแคงตัวเพื่อให้นอนบนผ้าห่ม แล้วดึงชายผ้าห่มทั้งสองข้างออก เสร็จแล้วจึงม้วนเข้าหากัน จากนั้นช่วยกันยกตัวผู้ป่วยขึ้น ผู้ช่วยเหลือคนหนึ่งต้องประคองศีรษะผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่สงสัยว่า ได้รับบาดเจ็บที่คอหรือหลัง
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยใช้ผ้าห่ม
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยใช้เปลหาม
เปลหรือแคร่มีประโยชน์ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย อาจทำได้ง่ายโดยดัดแปลงวัสดุ การใช้เปลหามจะสะดวกมากแต่ยุ่งยากบ้างขณะที่จะอุ้มผู้ป่วยวางบนเปลหรืออุ้มออกจากเปล
วิธีการเคลื่อนย้าย เริ่มต้นด้วยการอุ้มผู้ป่วยนอนราบบนเปล จากนั้นควรให้ผู้ช่วยเหลือคนหนึ่งเป็นคนออกคำสั่งให้ยกและหามเดิน เพื่อความพร้อมเพรียงและนุ่มนวล ถ้ามีผู้ช่วยเหลือสองคน คนหนึ่งหามทางด้านศีรษะ อีกคนหามทางด้านปลายเท้าและหันหน้าไปทางเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าผู้ช่วยเหลือที่หามทางด้านปลายเท้าจะเดินนำหน้า หากมีผู้ช่วยเหลือ 4 คน ช่วยหาม อีก 2 คน จะช่วยหามทางด้านข้างของเปลและหันหน้าเดินไปทางเดียวกัน
ภาพ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยใช้เปลหาม
วัสดุที่นำมาดัดแปลงทำเปลหาม
1. บานประตูไม้
2. ผ้าห่มและไม้ยาวสองอัน วิธีทำเปลผ้าห่ม ปูผ้าห่มลงบนพื้น ใช้ไม้ยาวสองอัน ยาวประมาณ 2.20 เมตร
- อันที่ 1 สอดในผ้าห่มที่ได้พับไว้แล้ว
- อันที่ 2 วางบนผ้าห่ม โดยให้ห่างจากอันที่ 1 ประมาณ 60 ซม. จากนั้นพับชายผ้าห่มทับไม้อันที่ 2 และอันที่ 1 ตามลำดับ
ภาพ การใช้ผ้าห่มมาดัดแปลงทำเปลหามผู้ป่วย
3. เสื้อและไม้ยาว 2 อัน นำเสื้อที่มีขนาดใหญ่พอๆกันมาสามตัว ติดกระดุมให้เรียบร้อย ถ้าไม่แน่ใจว่ากระดุมจะแน่นพอให้ใช้เข็มกลัดซ่อนปลายช่วยด้วย แล้วสอดไม้สองอันเข้าไปในแขนเสื้อ
ภาพ การใช้เสื้อมาดัดแปลงทำเปลหามผู้ป่วย