22 กรกฎาคม 2552

กระดูกหัก

การดูแลและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยกระดูกหัก
การปฐมพยาบาล หมายถึง... การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ผู้ที่ได้รับอุบัติภัยหรือเจ็บป่วยกระทันหันโดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่พอจะหาได้ในบริเวณนั้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยและช่วยให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายน้อยลง ก่อนที่จะนำส่งโรง พยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาพยาบาลต่อไป
ผู้ป่วยฉุกเฉิน หมายถึง ผู้ได้รับบาดเจ็บหรือผู้ที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
การประเมิน (Assessment) หมายถึงการรวบรวมข้อมูลของสถานที่เกิดเหตุและผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินเพื่อการวางแผนให้การช่วยเหลือต่อไป
ขั้นตอนประเมินสภาพผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน
1.แนะนำตัวบอกชื่อและอธิบายให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือญาติทราบว่า เราเป็นใคร จะให้การช่วยเหลืออะไร
2.ตรวจดูความรู้สึกตัว โดยการเรียกหรือตีที่ไหล่เบา ๆ เพื่อดูว่าผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินรู้สึกตัวหรือไม่
3.ตรวจดูทางเดินหายใจ ดูว่ามีเศษอาหารฟันปลอมอยู่ในปากหรือไม่
4.ตรวจการหายใจ โดยดูการขยับขึ้น – ลง ของทรวงอกและนับอันตราการหายใจ
5.ตรวจดูชีพจร เพื่อดูว่าหัวใจเต้นหรือไม่ ตรวจบาดแผล มีเลือดออกหรือไม่ ถ้ามีเลือดออกให้ทำการห้ามเลือดโดยเร็ว

กระดูกหัก
กระดูกหัก หมายถึง ภาวะที่ส่วนประกอบของกระดูกแตกแยกออกจากกัน อาจเป็นการแตกแยกโดยสิ้นเชิง หรืออาจมีบางส่วนติดกันอยู่บ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแรงที่มากระแทกต่อกระดูก ทำให้แนวการหักของกระดูกแตกต่างกัน
ชนิดของกระดูกหัก
โดยทั่วไปแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ กระดูกหักชนิดปิด (closed fracture) และกระดูกหักชนิดเปิด (opened fracture) ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จากการสังเกต
1. กระดูกหักชนิดปิด คือกระดูกหักแล้วไม่ทะลุผิวหนังและไม่มีบาดแผลบนผิวหนังตรงบริเวณที่หัก
2. กระดูกหักชนิดเปิด คือกระดูกหักแล้วทิ่มแทงทะลุผิวหนัง ทำให้มีแผลตรงบริเวณที่กระดูกหัก โดยอาจไม่มีกระดูกโผล่ออกมานอกผิวหนังก็ได้ แต่มีแผลเห็นได้ชัดเจน
กระดูกส่วนต่างๆ ที่พบการแตกหักได้
1. กระดูกเชิงกรานหัก (Pelvic fracture)
2. กระดูกกระโหลกศีรษะแตก (Skull fracture)
3. กระดูกขากรรไกรล่างหัก (Lower Jaw fracture)
4. กระดูกไหปลาร้าหัก (Clavicle fracture)
5. กระดูกซี่โครงหัก (Ribs fracture)
6. กระดูกข้อมือหัก (Colle' s fracture)
7. กระดูกต้นแขนหัก
8. กระดูกสันหลังหัก (Spinal fracture)

หลักทั่วไปในการปฐมพยาบาลผู้ที่กระดูกหัก
1. การซักประวัติ จะต้องซักประวัติเกี่ยวกับการได้รับอุบัติเหตุ เพื่อให้ทราบว่าเกิดได้อย่างไร ในท่าใด ระยะเวลาที่เกิด เพื่อประเมินความรุนแรงของแรงที่มากระทำ และตำแหน่งของกระดูกที่ได้รับบาดเจ็บ
2. ตรวจร่างกาย โดยตรวจทั้งตัว และสนใจต่อส่วนที่ได้รับอันตรายมากก่อน โดยถอดเสื้อผ้าออก การถอดเสื้อผ้าผู้บาดเจ็บ ควรใช้วิธีตัดตามตะเข็บ อย่าพยายามให้ผู้บาดเจ็บถอดเอง เพราะจะทำให้เจ็บปวดเพิ่มขึ้นแล้วสังเกตอาการและอาการแสดงว่ามีการบวม รอยฟกช้ำ หรือ จ้ำเลือด บาดแผล ความพิการผิดรูป และคลำอย่างนุ่มนวล ถ้ามีการบวมและชามากให้จับชีพจรเปรียบเทียบกับแขนหรือขาทั้งสองข้าง ตรวจระดับความรู้สึก การเปลี่ยนแปลงสีผิว การตรวจบริเวณที่หัก ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ปลายกระดูกที่หักเคลื่อนมาเกยกัน หรือทะลุออกมานอกผิวหนัง ขณะตรวจร่างกาย ต้องดูแลทางเดินหายใจให้โล่ง ประเมินการหายใจและการไหลเวียนของเลือด สังเกตการตกเลือด ถ้ามีต้องห้ามเลือด หลีกเลี่ยงวิธีการห้ามเลือดแบบขันชะเนาะ เพราะถ้ารัดแน่นเกินไป อาจจะทำให้เลือดแดงไปเลี้ยงส่วนปลายไม่พอ ถ้ามีบาดแผลต้องตกแต่งแผลและพันแผล ในรายที่มีกระดูกหักแบบเปิดให้ใช้ผ้าสะอาดคลุมปิดไว้ แล้วพันทับ ห้ามดึงกระดูกให้เข้าที่
3. ระมัดระวังในการจับต้องอย่างรุนแรง
4. เข้าเฝือกชั่วคราวโดยใช้วัสดุที่แข็ง เช่น แผ่นไม้ กิ่งไม้ ม้วนหนังสือพิมพ์ วางรองยึดกระดูกส่วนที่หักให้อยู่กับที่
5. พันผ้ายืดไม่ให้เคลื่อนไหว ระวังอย่าพันผ้าให้แน่นจนเกินควร ซึ่งจะทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายไม่ได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก
6. ทำการห้ามเลือดถ้ามีเลือดออกมาก
7. ในรายที่กระดูกโผล่ออกนอกเนื้อ อย่าพยายามดึงกระดูกให้กลับเข้าที่ เพราะจะทำให้เชื้อโรค และสิ่งสกปรกจากภายนอกเข้าในแผนส่วนลึกได้ ให้หาผ้าสะอาดคลุม หรือปิดบาดแผลไว้
8. ถ้าเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ เช่น กระดูกโคนขา อาจใช้ขาข้างที่ดีเป็นตัวยึดก็ได้
9. ยกส่วนที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงขึ้นเล็กน้อย
10. การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ เพื่อเคลื่อนย้ายออกจากสถานที่มีอันตรายไปสู่ที่ปลอดภัยหรือโรงพยาบาล การเคลื่อนย้ายอย่างถูกวิธี จะช่วยลดความพิการและอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้
11. รีบนำส่งโรงพยาบาล

หลักการเข้าเฝือกชั่วคราว
1.วัสดุที่ใช้ดามต้องยาวกว่าอวัยวะส่วนที่หัก โดยเฉพาะจะต้องยาวพอที่จะบังคับข้อต่อที่อยู่เหนือและใต้ บริเวณที่สงสัยว่ากระดูกหัก เช่น ขาท่อนล่างหัก ข้อเข่าและข้อเท้าจะต้องถูกบังคับไว้ด้วยเฝือก เป็นต้น
2. ไม่วางเฝือกลงบนบริเวณที่กระดูกหักโดยตรง ควรมีสิ่งอื่นรอง เช่น ผ้า หรือ สำลีวางไว้ตลอดแนวเฝือก เพื่อไม่ให้เฝือกกดลงบนบริเวณผิวหนังโดยตรง ซึ่งทำให้เจ็บปวดและเกิดเป็นแผลจากเฝือกกดได้
3.มัดเฝือกกับอวัยวะที่หักให้แน่นพอควร ถ้ารัดแน่นจนเกินไปจะกดผิวหนังทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวกเป็นอันตรายได้ โดยระวังอย่าให้ปมเชือกกดแผล จะเพิ่มความเจ็บปวดและเนื้อเยื่อได้รับอันตราย และคอยตรวจบริเวณที่หักเป็นระยะๆ เพราะอาจจะมีการบวม ซึ่งจะต้องคลายเชือกที่ผูกให้แน่นน้อยลง
4.บริเวณที่เข้าเฝือกจะต้องจัดให้อยู่ในท่าที่สุขสบายที่สุด อย่าจัดกระดูกให้เข้ารูปเดิม ไม่ว่ากระดูกที่หักจะโค้ง โก่ง หรือ คด ก็ควรเข้าเฝือกในท่าที่เป็นอยู่

การหายของกระดูก
เมื่อกระดูกหัก โดยมากมักทำให้เยื่อหุ้มกระดูกและเนื้อเยื่ออื่นๆ ฉีกขาดไปด้วย จึงทำให้บริเวณที่หักมีการอักเสบขึ้น เลือดจะมาสู่ส่วนนั้นมากขึ้น ต่อมาจะเกิดเป็นกระดูกใหม่ขึ้น เรียกว่า callus ซึ่งจะเชื่อมปลายกระดูกทั้งสองข้างให้ติดกัน แล้วเซลล์สร้างกระดูกจากเยื่อหุ้มกระดูก และแคลเซียมก็จะมาสะสมกันทำให้ callus แข็งขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นกระดูกปกติ ซึ่งการเชื่อมของกระดูกจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นกับอายุของผู้บาดเจ็บ ลักษณะการหักของกระดูก ชนิดและตำแหน่งของกระดูกที่หัก และกระดูกที่จำกัดการเคลื่อนไหวที่ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น